การเตรียมตัวสอบภาค ค. (สัมภาษณ์) ครูผู้ช่วย สพฐ.
การเตรียมตัวสอบภาค ค. สอบครูผู้ช่วย สพฐ.คำแนะนำในการสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (สัมภาษณ์) สพฐ.
ภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค)
เป็นการประเมินบุคคลเพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่จากประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานและพฤติกรรมที่ปรากฏทางอื่นของผู้เข้าสอบและจากการสัมภาษณ์ ทั้งนี้ อาจใช้วิธีการอื่นใดเพิ่มเติมอีกก็ได้เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่างๆ เช่น ความรู้ที่อาจใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ ความสามารถ ประสบการณ์ ท่วงทีวาจา อุปนิสัย อารมณ์ ทัศนคติ จริยธรรมและคุณธรรม การปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงาน รวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ปฏิภาณไหวพริบและบุคลิกภาพอย่างอื่นเป็นต้น
ตามประกาศคณะกรรมการ กศจ. ที่ระบุขอบเขตในการประเมินผู้เข้าสอบในภาค ค. จะจำแนกได้ดังนี้
1. "ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน" กรรมการจะดูจากตรงไหน?
- รายละเอียดในใบสมัครที่ผู้สมัครกรอกไว้ตอนสมัครสอบ
- จากการสอบถามผู้เข้าสอบโดยตรง หรือให้ผู้เข้าสอบแนะนำตัว(เจอแน่นอน)
- จากแฟ้มผลงาน (เตรียมไปเลยถ้ามี สำหรับผู้ที่ไม่มีก็ไม่มีปัญหา)
ในส่วนประวัติฯ ให้ผู้สมัครเตรียมตัวสำหรับการพูดแนะนำตัวเองไปด้วย เพราะกรรมการจะต้องให้แนะนำตัวเอง "แนะนำตัวหน่อย" , "พูดเกี่ยวกับตัวคุณหน่อย ชื่ออะไร ทำงานที่ไหน อายุเท่าไหร่" คำถามก็ประมาณนี้
ในการตอบก็ให้ฝึกไว้ก่อนว่าจะพูดอะไรก่อน หลัง เรียงลำดับไว้ เพราะถ้าไม่ท่องไว้ก่อน พอไปเจอสถานการณ์จริงเกิดอาการตื่นเต้นจะหลงลืมพูดติดๆขัดๆได้
การแนะนำตัว เช่น กระผม/ดิฉัน ชื่อ.............. อายุ...... การศึกษา........... การทำงาน.......... (อื่นๆ ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์) จะเพิ่มเติม จะนำเสนอตัวเองในสิ่งที่คิดว่าน่าสนใจก็แนะนำด้วย เช่น ความสามารถพิเศษ เป็นต้น
2. "พฤติกรรมที่ปรากฏทางอื่นของผู้เข้าสอบและจากการสัมภาษณ์"
ตรงส่วนนี้กรรมการจะดูเราตั้งแต่การแต่งกาย ทรงผม ท่าทางที่เราแสดงออก เช่น การเดิน การนั่ง เป็นต้น
การแต่งกายของผู้เข้าสอบภาค ค. จะต้องเรียบร้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ชายควรสวมเสื้อแขนยาวสีเรียบ ใส่เน็คไท้ด้วยก็ดี กางเกงขายาว รองเท้าหุ้มส้น
ก่อนจะเข้าห้องสอบให้เคาะประตูก่อน แล้วขออนุญาต พอเดินไปถึงโต๊ะกรรมการก็สวัสดีแล้วอย่ารีบนั่ง รอฟังคำสั่งจากกรรมการก่อนว่าจะให้เราแนะนำตัวหรือจะให้นั่งก่อน 3. "ความรู้ที่อาจใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ ความสามารถประสบการณ์ท่วงทีวาจา อุปนิสัย อารมณ์ ทัศนคติ จริยธรรมและคุณธรรมการปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงาน รวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ปฏิภาณไหวพริบและบุคลิกภาพอย่างอื่น"
ส่วนนี้สำคัญมาก คำถามที่กรรมการมักจะถาม เช่น
- ทำไมถึงอยากรับราชการครู?
- ทำไมถึงอยากรับราชการในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- คุณคาดหวังอย่างไรกับอาชีพครู
- "คุณจะนำความรู้ที่คุณเรียนมาไปปรับใช้กับตำแหน่งครูผู้ช่วยที่สมัครได้อย่างไร (คำถามนี้มักจะเป็นคำถามที่กรรมการถามบ่อยในหลายๆหน่วยงาน)"
- หากคุณทำงานมีอาชีพอยู่แล้ว กรรมการมักจะถามว่า "อาชีพที่ทำก็ดีอยู่แล้วทำไมถึงอยากมาทำงานเป็นครู" "ถ้าหากคุณสอบได้คุณก็ต้องลาออกจากที่ทำงานเดิม คุณไม่ห่วงหน่วยงานเดิมเหรอ ที่ต้องขาดบุคลากรไป คุณไม่สงสารเพื่อนร่วมงานเหรอที่ต้องมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น"
- หากคุณเพิ่งเรียนจบ หรือยังไม่ได้ทำงาน กรรมการอาจถามว่า "คุณยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน คุณจะมีแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างไร"
- กรรมการจะถามเกี่ยวกับงานในตำแหน่งที่สมัครสอบ เช่น คุณทราบหรือไม่ว่าตำแหน่งครูผู้ช่วย ทำอะไรบ้าง มีหน้าที่อย่างไร? (ปรับใช้กับตำแหน่งที่คุณสมัครสอบ)
- จงบอกข้อดีและข้อเสียของคุณ
- ถ้าคุณได้บรรจุฯคุณจะทำอะไรเป็นสิ่งแรก (อาจเกี่ยวกับงานในหน้าที่ หรือถามเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว)
- หากคุณได้บรรจุฯเข้าไปทำงานแล้วเกิดปัญหาในการปฏิบัติงาน คุณจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไร?
- การจะเป็นครูที่ดีต้องปฏิบัติตนอย่างไร?
- หากได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำในสิ่งที่ผิดระเบียบฯ คุณจะทำอย่างไร? (ตอบไปเลย ไม่ทำเพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย , ผู้ใต้บังคับบัญชาจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่หากคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ผิดระเบียบหรือมิชอบด้วยกฏหมาย ผู้ใต้บังคับบัญชาก็มีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งได้)
- เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชื่ออะไร
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการชื่ออะไร
- ประธาน กศจ.จังหวัดที่สอบคือใคร
- คำขวัญประจำจังหวัด หรือมีสัญลักษณ์ว่าอย่างไร
- หลักธรรมที่ใช้ในการปฏิบัติงานตำแหน่งครูผู้ช่วย
- ถามความรู้เกี่ยวกับงานในตำแหน่งที่สมัครสอบ
***เป็นเพียงตัวอย่างคำถามที่คณะกรรมการฯมักจะถามในการสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการในหน่วยงานต่างๆ โดยคำถามจะผันแปรไปกับตำแหน่งที่คุณสมัคร และคำตอบของคุณอาจจะเป็นคำถามข้อต่อไป ดังนั้นคุณจะต้องหาทางหนีทีไล่ให้ได้
***สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการเข้าสอบสัมภาษณ์คือ อาการตื่นเต้น โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเคยเข้าสอบสัมภาษณ์เป็นครั้งแรก วิธีแก้สำหรับแต่ละบุคคลก็อาจจะแตกต่างกันออกไป คำแนะนำคือให้สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ หาวิธีผ่อนคลายตัวเอง เช่นพูดคุยกับเพื่อนที่รอสอบสัมภาษณ์ด้วยกัน หรือคุยกับพี่ๆเจ้าหน้าที่ควบคุมการสอบ
***ไม่จำเป็นต้องตอบทุกคำถาม หากมีคำถามที่คุณไม่รู้จริงๆ และหากตอบไปจะไม่เป็นผลดีกับตัวคุณก็ให้ตอบว่าไม่ทราบจะดีกว่า